อะดาลิมูแมบ

อะดาลิมูแมบ

Adalimumab หรือ อะดาลิมูแมบ เป็นยาที่ใช้ลดอาการปวดหรืออักเสบ มักใช้รักษาโรคอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจ ยา Adalimumab มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยา Adalimumab

กลุ่มยา ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีการระบุวิธีใช้ยา Adalinumab ในหญิงตั้งครรภ์อย่างชัดเจน ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายานี้ไม่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนใช้ยานี้ ส่วนผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยานี้ ควรใช้มีการคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยาและหลังจากใช้ยานี้ อย่างน้อย 5 เดือน

คำเตือนในการใช้ยา Adalimumab

ยา Adalimumab มีข้อควรระวังในการใช้ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา ทั้งยาชนิดนี้ รวมทั้งยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรม
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า ไอ เสมหะปนเลือด แผลตามผิวหนัง ท้องเสีย หรือรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติการรักษาโรค โดยเฉพาะอาการชัก อาการแพ้ยาง ภาวะเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง หรือเกล็ดเลือดต่ำ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคหัวใจ โรคลูปัส โรคเกี่ยวกับระบบประสาทกล้ามเนื้อที่ส่งผลให้เกิดอาการชาหรือเป็นเหน็บ โรควัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี
  • ยานี้ส่งผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจึงอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ระหว่างใช้ยาหากมีไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย เหนื่อยล้า ไอ เกิดแผลตามผิวหนัง ท้องเสีย หรือรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ควรไปพบแพทย์ในทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีการเดินทางในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากบางประเทศอาจมีความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อโรคบางชนิดกว่าพื้นที่อื่น ๆ
  • แจ้งแพทย์หากเพิ่งรับหรือมีแผนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ระหว่างการใช้ยา อย่างวัคซีนโรคหัด หรือวัคซีนโรคคางทูม เนื่องจากวัคซีนอาจทำงานได้ไม่ประสิทธิภาพ
  • ยานี้ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือ 6 ปีในการรักษาโรคโครห์น
  • ควรพาเด็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคก่อนเริ่มใช้ยานี้ในเด็ก
  • ยา Adalimumab มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในตับ ม้าม หรือไขกระดูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งจากการใช้ยานี้มีน้อยมาก แต่มักพบในวัยรุ่นที่เป็นโรคโครห์นหรือโรคลำไส้อักเสบ และผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ตนเอง
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคติดเชื้อ ผู้ที่เพิ่งรับวัคซีนป้องกันโรค หรือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ อย่างการตัดเล็บ การโกนหนวด การเล่นกีฬาบางประเภท เนื่องจากรอยแผล รอบบาด หรือรอยช้ำอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในระหว่างและภายหลังการใช้ยาสูงกว่าคนกลุ่มอื่น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้ ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลครรภ์หากกำลังใช้ยานี้อยู่
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผ่านทางน้ำและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Adalimumab

แพทย์อาจกำหนดปริมาณยาในการรักษาแตกต่างกันไปตามโรคและความรุนแรง โดยยาอะดาลิมูแมบมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาในการรักษาโรค ดังนี้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มี ดังนี้

ผู้ใหญ่ ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์ หากใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาเพียงชนิดเดียว แพทย์อาจแนะนำให้เพิ่มปริมาณยาในสัปดาห์ถัด ๆ ไป

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กมี ดังนี้

เด็ก เด็กอายุ 4-15ปี ที่มีน้ำหนักระหว่าง 15-30 กิโลกรัม ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 20 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เด็กที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์เว้นสัปดาห์

โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคสะเก็ดเงินข้ออักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคสะเก็ดเงินมี ดังนี้

ผู้ใหญ่ ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยใช้ยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์

โรคโครห์นและโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยาอะดาลิมูแมบในการรักษาโรคโครห์นและโรคลำไส้ใหญ่อักเสบมี ดังนี้ 

ผู้ใหญ่ ผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรคในระดับปกติไปจนถึงขั้นรุนแรง ระยะแรกใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 160 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยแพทย์อาจแบ่งการฉีดยาเป็น 4 ครั้ง ครั้งละ 40 มิลลิกรัมภายในหนึ่งวัน หรือแบ่งการฉีดยาเป็น 4 ครั้ง ครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2 วัน

จากนั้นฉีดยา Adalimumab ปริมาณ 80 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนังหลังจากการฉีดครั้งแรก 15 วัน โดยหลังจากฉีดยาครั้งแรก 29 วัน ใช้ยา Adalimumab ปริมาณ 40 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยฉีดยาสัปดาห์เว้นสัปดาห์ บางกรณีแพทย์อาจให้เพิ่มการฉีดเป็นทุกสัปดาห์ และหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาชนิดนี้ แพทย์จะประเมินซ้ำภายใน 8 สัปดาห์สำหรับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ และ 12 สัปดาห์สำหรับโรคโครห์น 

การใช้ยา Adalimumab

ยาอะดาลิมูแมบมีวิธีการใช้ ดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ถามแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยานี้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการฉีดด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการฉีดยาด้วยตนเอง
  • ปริมาณและระยะเวลาในการรักษาด้วยยา Adalimumab อาจแตกต่างกันไปตามโรคและอาการ ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด
  • ยานี้ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขาหรือหน้าท้อง โดยสามารถฉีดบริเวณเดิมได้แต่ควรเปลี่ยนตำแหน่งการแทงเข็มให้ห่างจากตำแหน่งการแทงเข็มครั้งก่อนอย่างน้อย 1 นิ้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติที่อาจเกิดกับผิวหนัง
  • ก่อนการฉีดยาควรทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้ง
  • ไม่ควรฉีดยาลงบนผิวหนังที่ผิดปกติ อย่างเป็นแผล รอยช้ำ เป็นผื่น ผิวที่มีสัมผัสที่แข็งหรือหนาผิดปกติ 
  • ตรวจสอบลักษณะยาก่อนใช้ทุกครั้ง ว่าอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีตะกอน การเปลี่ยนสี หรือขุ่น หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนยาใหม่
  • ห้ามนำยา Adalimumab แช่แข็ง หากยาเป็นน้ำแข็งห้ามใช้โดยเด็ดขาด
  • หลังจากนำยาออกจากตู้เย็น ควรทิ้งไว้สัก 15-30 นาทีเพื่อให้อยู่ในอุณหภูมิปกติ โดยห้ามอุ่นยาด้วยวิธีใดก็ตาม และห้ามเขย่าขวดยาโดยเด็ดขาด
  • หมั่นตรวจสุขภาพตลอดระยะเวลาที่ใช้ยา โดยเฉพาตรวจหาการติดเชื้อ
  • เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด ควรฉีดยาตรงตามกำหนดการฉีดทุกครั้ง
  • หากลืมฉีดยาให้ฉีดยาทันทีที่นึกได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • หากได้รับยาเกินขนาดและเกิดอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ในทันที
  • ห้ามใช้เข็มและหลอดฉีดยาซ้ำโดยเด็ดขาด หลังจากฉีดยาเรียบร้อยแล้วให้ทิ้งอุปกรณ์ฉีดอย่างเหมาะสมห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หากมีอาการผิดปกติหลังจากใช้ยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที
  • ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น โดยเก็บให้ห่างจากแสง ความร้อน เด็ก และสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Adalimumab

ยา Adalimumab อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น คัดจมูก จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น หรือเกิดความผิดปกติบริเวณผิวหนังที่ฉีด อย่างรอยแดง รอยช้ำ คัน และบวม เป็นต้น แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจพบได้ทั่วไป แต่ถ้าหากไม่หายหรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ยานี้ยังอาจทำให้เกิดอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งหากอาการต่อไปนี้ปรากฏขึ้น ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์
  • อาการของโรคมะเร็งต่อน้ำเหลือง
    การใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เล็กน้อย จึงควรหมั่นสังเกตสัญญาณของโรค เช่น เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เหงื่อออกขณะนอนหลับ ปวดกล้ามเนื้อ รอยช้ำ มีเลือดไหล ผิวซีด เวียนศีรษะ มือเท้าเย็น ปวดท้องส่วนบนซึ่งอาจลามไปบริเวณไหล่ เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว และน้ำหนักลด เป็นต้น
  • สัญญาณการติดเชื้อ
    เนื่องจากยานี้ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน หายใจลำบาก ปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ตกขาวผิดปกติ เกิดผื่นสีขาวในปาก หรือไอและเจ็บคอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • ผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
    ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อย่างเป็นไข้ ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง ปวดข้อต่อ ข้อต่อบวม เจ็บหน้าอก เหนื่อยล้า อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักขึ้นแบบฉับพลันหรือขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผื่นขึ้นบริเวณจมูกและแก้ม ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระปนเลือด ดีซ่าน หายใจถี่ ผิวหนังไวต่อแสง รู้สึกชา เป็นเหน็บ แขนหรือขาอ่อนแรง มีปัญหาในการเคี้ยว กลืน พูด หรือเคลื่อนไหวใบหน้า ชัก สะเก็ดเงินกำเริบ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ อารมณ์แปรปรวน การมองเห็นผิดปกติ
  • อาการแพ้ยา
    อาการแพ้ยา อย่างผื่นลมพิษตามตัว มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น คอ หรือหายใจลำบาก 
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการนอกเหนือจากนี้ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ