ยาดม

ยาดม

ยาดม คือ ยาน้ำสำหรับสูดดมบรรเทาอาการคัดจมูก เวียนหัว เป็นลม หรือทารักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลงกัดต่อย ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ ยาน้ำแอมโมเนีย และยาน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น การบูร เมนทอล เมทิลซาลิซีเลต เป็นต้น

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยาดม

กลุ่มยา ยาดม
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ใช้สูดดมบรรเทาอาการคัดจมูก เวียนหัว เป็นลม
ใช้ทารักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลงกัดต่อยหรือการสัมผัสพืชบางชนิด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
รูปแบบของยา ยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย ยาน้ำแอมโมเนีย ยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย ยาน้ำแอมโมเนีย

คำเตือนในการใช้ยาดม

  • ห้ามเก็บหรือทิ้งบรรจุภัณฑ์ยาน้ำแอมโมเนียใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนหรือประกายไฟ เพราะยาอาจติดไฟได้
  • ห้ามใช้ยาดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ควรสูดดมยาที่ผสมเมทิลซาลิซีเลต เพราะอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองได้
  • ห้ามทายาดมบริเวณผิวหนังที่บอบบางหรือมีแผลเปิด และห้ามให้ยาเข้าตา เพราะอาจทำให้ตาระคายเคืองหรือแสบร้อนได้ หากยาสัมผัสกับผิวหนังบริเวณดังกล่าวหรือยาเข้าตา ให้ผู้ป่วยล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 นาที โดยห้ามถูหรือทาขี้ผึ้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ห้ามรับประทานยาดม หากกลืนยาโดยอุบัติเหตุให้ดื่มน้ำมาก ๆ แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
  • ไม่ควรใช้ยาดมในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาดม
  • ห้ามใช้ยาดมหากแพ้น้ำมันหอมระเหยหรือแอมโมเนีย หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง โรคตา โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
  • ผู้ที่หน้ามืดหรือหมดสติบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาสาเหตุของการหมดสติ
  • ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากอาการเจ็บป่วยไม่ทุเลาลงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นหลังจากใช้ยาดม
  • ผู้ป่วยอาจติดการสูดยาดมเป็นนิสัยได้หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะส่วนผสมบางชนิดโดยเฉพาะการบูรและเมนทอลอาจมีผลต่อระบบประสาท

ปริมาณการใช้ยาดม

  • ใช้สำลีชุบยาเล็กน้อยแล้วสูดดม หรือสูดดมยาจากบรรจุภัณฑ์โดยตรง เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก เวียนหัว
  • ใช้สูดดมช้า ๆ เพื่อรักษาอาการหน้ามืดจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้น หรือใช้สำลีชุบยาน้ำแอมโมเนียเพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นลมสูดดมช้า ๆ จนกว่าจะรู้สึกตัว โดยถือสำลีให้ห่างจากจมูกของผู้ป่วยประมาณ 4 นิ้ว
  • ใช้ทาบาง ๆ บริเวณผิวหนัง เพื่อรักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลงกัดต่อยหรือการสัมผัสพืชบางชนิด

การใช้ยาดม

  • ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยารักษาโรคอื่น ๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเสมอ  
  • สำหรับการสูดดมยาดม ให้ใช้สำลีหรือผ้าเช็ดหน้าชุบยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในแท่งยาดมแล้วสูดดม หรือสูดดมยาจากบรรจุภัณฑ์โดยตรง โดยถือยาให้ห่างจากจมูกเล็กน้อย
  • หากต้องการสูดดมยาอย่างต่อเนื่อง ให้ทายาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยปริมาณเล็กน้อยบริเวณจมูก ลำคอ และหน้าอก แต่ไม่ควรทายาในปริมาณมาก หรือสอดแท่งยาดมในรูจมูกเพื่อสูดดมตลอดทั้งวัน เพราะอาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกระคายเคืองได้
  • ควรเช็ดบรรจุภัณฑ์ให้สะอาดและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ควรใช้ยาดมของผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อบางชนิดได้
  • ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากมือเด็กและแสงแดด และหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของยา
  • ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการป่วยรุนแรง เพราะยาดมใช้รักษาอาการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาดม

ยาดมอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยใช้ผิดวิธี และผู้ที่สูดดมยาน้ำแอมโมเนียอาจไอหรือน้ำตาไหลเล็กน้อยได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เวียนหัว ปวดหัว ปวดตา มองไม่ชัด อาเจียน ท้องเสีย รวมทั้งมีอาการแพ้ เช่น มีผื่นคัน และมีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือลำคอ หายใจลำบาก เป็นต้น