ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta)

ความหมาย ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta)

Placenta Accreta หรือภาวะรกเกาะแน่น เป็นอาการที่รกจะเจริญลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อผนังมดลูกมากผิดปกติ ส่งผลให้รกฝังแน่นจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกติดหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้มีอาการเลือดออกอย่างรุนแรงหลังคลอดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

โดยทั่วไป ภาวะ Placenta Accreta จะไม่แสดงอาการ แต่แพทย์จะตรวจพบความผิดปกติได้จากการทำอัลตราซาวด์ ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุและวิธีการป้องกันภาวะ Placenta Accreta ได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหลังการคลอด

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

อาการของ Placenta Accreta

ผู้ที่มีภาวะ Placenta Accreta มักไม่แสดงอาการระหว่างตั้งครรภ์ โดยแพทย์อาจพบภาวะนี้ได้ขณะทำการอัลตราซาวด์ตามปกติ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกทางช่องคลอด (Vaginal Bleeding) ในไตรมาสที่สามหรือช่วงอายุครรภ์ 27–40 สัปดาห์ 

โดยปกติแล้วรกจะหลุดออกจากผนังมดลูกหลังคลอดบุตร แต่ผู้ที่มีภาวะ Placenta Accreta จะมีรกฝังแน่นในผนังมดลูกแม้จะคลอดลูกแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียเลือดอย่างรุนแรง เกิดภาวะรกแทรกติดหรือภาวะรกแทรกตัวลึกตลอดความหนาของกล้ามเนื้อมดลูก ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ามีอาการเลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรง เช่น มีเลือดออกเต็มผ้าอนามัยภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือมีเลือดออกในปริมาณมากที่มาพร้อมกับอาการปวดท้อง เป็นต้น

สาเหตุของ Placenta Accreta 

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะ Placenta Accreta ได้ชัดเจน แต่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากแผลเป็นหรือความผิดปกติอื่น ๆ บริเวณเยื่อบุมดลูก และอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น 

  • การผ่าคลอด (Cesarean Section) การผ่าตัดคลอดหลายครั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Placenta Accreta มากยิ่งขึ้น
  • ภาวะรกเกาะต่ำ เกิดจากรกเกาะอยู่ในบริเวณมดลูกช่วงล่างจนปิดกั้นปากมดลูก โดยพบว่า 5–10 เปอร์เซ็นต์ของภาวะรกเกาะแน่นเกิดในผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ 
  • เคยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกบริเวณมดลูก และเกิดแผลเป็นในบริเวณดังกล่าว

นอกจากนี้ ภาวะ Placenta accreta อาจเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของรก การขูดมดลูก การตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ  แม่มีอายุมากกว่า 35 ปี และผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณมดลูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Placenta Accreta สูงกว่าปกติ

การวินิจฉัย Placenta Accreta 

โดยทั่วไป แพทย์จะตรวจพบภาวะ Placenta Accreta จากการอัลตราซาวด์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับค่าโปรตีนบางชนิด หรือการตรวจทางภาพถ่าย อย่างการทำอัลตราซาวด์หรือการทำ MRI เพื่อตรวจดูระดับการเกาะแน่นของรกต่อผนังมดลูก 

นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้สตรีมีครรภ์ตรวจการฝังตัวของรกโดยละเอียดหากมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Placenta Accreta อย่างผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำหรือผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดบริเวณมดลูก 

การรักษา Placenta Accreta 

หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะ Placenta Accreta แพทย์และผู้ผดุงครรภ์จะวางแผนการคลอดร่วมกับผู้ป่วยเพื่อให้ทารกปลอดภัย ผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงอายุครรภ์ 27–40 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้นอนพักหรือรักษาตัวในโรงพยาบาล 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะรกเกาะแน่นเป็นบริเวณกว้าง แพทย์จะผ่าคลอดและผ่าตัดมดลูกไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการเสียเลือดมากขณะกำจัดรกออกจากมดลูก โดยก่อนการผ่าตัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพูดคุยถึงความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากอาจต้องให้เลือดกับผู้ป่วยในระหว่างการคลอด หรือผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลหลังการคลอดบุตรหากมีเลือดออกอย่างรุนแรง 

ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าคลอดทางหน้าท้องก่อนแล้วจึงผ่าตัดมดลูกพร้อมกับรกที่ยังเกาะติดอยู่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกหลังการผ่าตัด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังสามารถเก็บมดลูกที่มีรกเกาะไว้ได้ โดยจะปล่อยให้รกค่อย ๆ สลายตัวไปเอง

ทั้งนี้ ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอดบุตร สุขภาพของบุตรหรือการตั้งครรภ์ในอนาคต ซึ่งผู้ป่วยสามารถลดความวิตกกังวลได้โดยการพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจภาวะ Placenta Accreta เตรียมความพร้อมก่อนการผ่าคลอดและการผ่าตัด รวมไปถึงดูแลตนเองด้วยการหากิจกรรมทำเพื่อความผ่อนคลาย

ภาวะแทรกซ้อนของ Placenta Accreta 

Placenta Accreta อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรงจนต้องรักษาด้วยการให้เลือด ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย ภาวะปอดล้มเหลวหรือภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome : RDS) ไตวายหรือคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น 

นอกจากนี้ กระบวนการผ่าตัดก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แพ้ยาชา เกิดลิ่มเลือด แผลติดเชื้อหรือมีอาการบาดเจ็บบริเวณแผล มีเลือดออกมากเกินไปและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย

ในกรณีที่แพทย์ยังคงเก็บมดลูกไว้และให้รกค่อย ๆ สลายตัวไปเอง อาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เกิดการติดเชื้อ มีลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดหัวใจบริเวณปอดหรือเป็นโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ซึ่งเสี่ยงต่อการผ่าตัดรักษาและอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต

การป้องกัน Placenta Accreta

Placenta Accreta เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การได้รับการวินิจฉัยภาวะ Placenta Accreta ตั้งแต่ระยะแรกอาจช่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดมดลูกและป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากได้ สำหรับผู้ที่เคยผ่าคลอดทางหน้าท้องหรือมีภาวะรกเกาะต่ำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกเกาะแน่นสูง