ตามัว

ความหมาย ตามัว

ตามัว (Blurred Vision) คืออาการที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและอาจเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุหลักอาจมีผลจากความผิดปกติของดวงตา ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการสวมแว่นตา เช่น ภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตายาวตามอายุ เป็นต้น ทั้งยังอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด หรือผลกระทบจากโรคอื่น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคไมเกรน อาการตามัวอาจทำให้ดวงตาแดง ระคายเคืองและไวต่อแสง หรืออาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดศีรษะได้อีกด้วย

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

อาการของตามัว

ตามัวอาจส่งผลต่อการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น หากกระทบต่อสายตาส่วนรอบ ก็จะทำให้การมองเห็นบริเวณรอบข้างพร่ามัวได้ ซึ่งอาจมีอาการต่าง ๆ แตกต่างกันตามสาเหตุดังต่อไปนี้

  • มีขี้ตา มีน้ำตามาก หรืออาจมีเลือดออกจากดวงตา
  • ตาแห้ง คันตา หรือเจ็บตา
  • เห็นจุดหรือมีเส้นใยบาง ๆ ในดวงตา
  • เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
  • อาการตากลัวแสงหรือไม่สู้แสง
  • การมองเห็นไม่ชัดเจนในระยะใกล้ หรือในตอนกลางคืน
  • สายตาส่วนกลาง หรือสายตาส่วนรอบเสียหาย

สัญญาณของอาการตามัวที่ควรพบแพทย์

ตามัวอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง และอาจรุนแรงยิ่งขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บตามาก
  • บริเวณตาขาวเริ่มเป็นสีแดง
  • ปวดศีรษะมาก
  • ใบหน้าบิดเบี้ยว
  • พูดลำบากหรือติดขัด
  • ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งได้
  • มีปัญหาในการมองเห็น หรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดชั่วคราว

สาเหตุของอาการตามัว

อาการตามัวอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งปัญหาเกี่ยวกับดวงตาโดยตรง ผลกระทบจากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตาแห้ง หรือมีแผลบริเวณดวงตา
  • การบาดเจ็บบริเวณดวงตา
  • กระจกตาถลอก หรือรอยแผลเป็นบนกระจกตา
  • จอตาติดเชื้อ
  • โรคเส้นประสาทตาอักเสบ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม ส่งผลโดยตรงต่อจอประสาท ซึ่งทำให้ความสามารถในการมองเห็นและการตอบสนองต่อแสงลดลง ผู้ป่วยจะค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นจนอาจทำให้ตาบอดได้
  • ความผิดปกติของภาวะการหักเหของแสง สามารถรักษาได้โดยการสวมแว่นตา โดยแบ่งเป็น
    • มองเห็นระยะใกล้ชัดเจน มักเกิดขึ้นกับทุกวัย โดยเป็นผลจากการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ จนกว่าสภาวะการเจริญเติบโตของดวงตาจะคงที่
    • มองเห็นระยะไกลชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กบางคนโดยเป็นผลจากกรรมพันธุ์ แต่อาการอาจดีขึ้นได้เองเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
  • ภาวะสายตายาวตามอายุ ส่งผลให้ความสามารถในการโฟกัสลดลง
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age-related Macular Degeneration: AMD) คือสาเหตุทั่วไปของอาการตามัวในผู้สูงอายุ โดยเกิดจากการเสื่อมของจุดรับภาพบริเวณส่วนกลาง และจอประสาทตาที่จุดกึ่งกลางของกระจกตา ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการมองเห็น
  • คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาดหรือเสียหายอาจทำให้เกิดอาการตามัวได้
  • โรคต้อหิน แรงดันในดวงตาที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เส้นประสาทตาเสียหายและก่อให้เกิดโรคต้อหินได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคต้อกระจก ส่งผลให้เลนส์ตาขุ่นมัวได้
  • โรคไมเกรน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตามัวก่อนที่อาการไมเกรนจะเริ่มต้นขึ้น
  • ภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการตามัวได้หากระดับน้ำตาลไม่คงที่
  • อาหารเสริมหรือยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด คอร์ติโซน (Cortisone) ยารักษาโรคหัวใจ ยากลุ่ม Anticholinergics ยาต้านภาวะซึมเศร้า หรือยาลดความดัน เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการตามัว

แพทย์หรือจักษุแพทย์อาจเริ่มต้นกระบวนการวินิจฉัยด้วยการสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น โดยอาจรวมไปถึงประวัติความผิดปกติหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาในครอบครัวของผู้ป่วย แล้วจึงเริ่มทดสอบความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • การใช้ Slit-lamp หรือกล้องจุลทรรศน์สำหรับตรวจตาชนิดลำแสงแคบ แพทย์จะขอให้ผู้ป่วยวางคางลงบนกล้องจุลทรรศน์ และตรวจดูโครงสร้างของดวงตา ซึ่งช่วยให้ทราบว่าดวงตาสามารถทำงานหรือตอบสนองได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ แพทย์อาจใช้ยาชาหยอดตา และยาหยอดตาที่มีสี เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระจกตา และยังช่วยในการวัดความดันลูกตา
  • การตรวจสายตา แพทย์อาจใช้เครื่องวัดสายตาหรือแผ่นวัดสายตา โดยขอให้ผู้ป่วยอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนแผ่นวัดสายตา เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไขความผิดปกติของดวงตาหรือไม่
  • การตรวจความดันลูกตา แพทย์จะตรวจวัดความดันลูกตาโดยใช้ยาหยอดตาและเครื่องวัดความดันลูกตา โดยผู้ป่วยต้องเบิกตาให้กว้างขึ้นและหายใจตามปกติระหว่างการวินิจฉัย บางกรณี แพทย์อาจใช้เครื่องตรวจวัดความดันภายในลูกตาในการวินิจฉัย
  • การตรวจเลือด ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อนับปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือตรวจสอบแบคทีเรียในกระแสเลือด กรณีที่อาการตามัวมีความรุนแรงจนอาจติดเชื้อได้

การรักษาอาการตามัว

ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากมีอาการตามัวเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีวิธีต่างกันไปตามสาเหตุของการเกิดอาการหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในแต่ละคน เช่น

  • การสวมแว่นตา ผู้ป่วยอาจต้องใส่แว่นตาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
  • การรักษาแบบโมโนวิชั่น (Monovision) หรือเบลนด์วิชั่น (Blended Vision) ความสามารถในการมองเห็นของดวงตา 2 ข้างมักมีความแตกต่างและเสื่อมโทรมตามระยะเวลาที่ต่างกัน ผู้ป่วยอาจเลือกใส่คอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาต่างกันเพื่อช่วยให้ประสาทตาสามารถปรับระยะโฟกัสของการมองเห็นทั้งในระยะใกล้และไกลได้ โดยใส่คอนแทคเลนส์สำหรับการมองเห็นระยะไกลข้างหนึ่ง และระยะใกล้อีกข้างหนึ่ง
  • เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด อาการตามัวอาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำตาลลดลง ผู้ป่วยจึงอาจต้องรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น ลูกอม น้ำผลไม้ หรือกลูโคสอัดเม็ด เป็นต้น
  • การผ่าตัด หากอาการตามัวเกิดจากโรคต้อกระจก การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเลนส์ตาอาจมีความจำเป็น

การป้องกันอาการตามัว

วิธีการป้องกันการเกิดอาการตามัวมีดังต่อไปนี้

  • สวมแว่นกันแดดตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แจ้ง หรือแว่นตาป้องกันขณะทำงานในบริเวณที่มีสารเคมีหรือฝุ่นละออง เช่น การทาสี หรือการซ่อมบ้าน เป็นต้น
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่นผักใบเขียว ผักสีม่วง หรือเนื้อปลา ซึ่งมีส่วนประกอบของกรดไขมันโอเมก้า 3
  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ และทำความสะอาดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่เสมอ เนื่องจากคราบไขมันหรือสิ่งสกปรกอาจเกาะอยู่บนเลนส์และทำให้เกิดอาการตามัวได้ ทั้งยังควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับน้ำยาแช่หรือล้างคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับเลนส์แต่ละประเภท
  • กรณีที่เข้ารับการตรวจตาและไม่พบความผิดปกติ ผู้ป่วยอาจใช้ยาหยอดตาเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาได้ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
  • การตรวจตาเป็นประจำอาจช่วยป้องกันปัญหาความผิดปกติของดวงตาที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยระยะเวลาที่ควรเข้ารับการตรวจ คือ
    • เด็กอายุ 0-6 ปี ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • เด็กอายุ 6-18 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2-4 ปี
    • ผู้มีอายุ 19-39 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 3-5 ปี
    • ผู้มีอายุ 40-64 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2-4 ปี
    • ผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1-2 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติการมีโรคเกี่ยวกับดวงตาในครอบครัว ผู้ป่วยที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี มีโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรเข้ารับการตรวจดวงตาเป็นประจำ