Simvastatin (ซิมวาสแตติน)

Simvastatin (ซิมวาสแตติน)

Simvastatin (ซิมวาสแตติน) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่สร้างคอเลสเตอรอล ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ในเลือด อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง รวมถึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย

ยา Simvastatin เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ นอกจากนี้ ยา Simvastatin ไม่สามารถใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างได้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยา Simvastatin

กลุ่มยา ยาลดไขมันในหลอดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนเกี่ยวกับยา Simvastatin

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา และหากมีประวัติแพ้ยาซิมวาสแตติน ห้ามใช้ยาชนิดนี้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรห้ามใช้ยาชนิดนี้ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อเด็กทารกในครรภ์ หรือทารกเด็กแรกคลอด อีกทั้งหากกำลังใช้ยาชนิดนี้อยู่ควรคุมกำเนิด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับไตหรือตับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ได้
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันละมากกว่า 2 แก้วเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • การใช้ยา Simvastatin อาจทำให้เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อลายเสียหาย และนำไปสู่การเกิดภาวะไตวายได้ ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยหาสาเหตุไม่ได้ 
  • ในขณะที่ใช้ยา Simvastatin ไม่ควรบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเกรปฟรุตในปริมาณมาก เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับเกรปฟรุต และนำไปสู่การเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

ปริมาณการใช้ยา Simvastatin

ปริมาณการใช้ยาซิมวาสแตตินจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular)

ตัวอย่างการใช้ยาซิมวาสแตตินเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10–20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงให้ใช้ยาปริมาณ 20–40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น และปรับขนาดยาตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

ภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Homozygous Familial Hypercholesterolemia)

ตัวอย่างการใช้ยาซิมวาสแตตินเพื่อรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม

เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป รับประทานยาเริ่มต้นปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น จากนั้นรับ

ประทานยาปริมาณ 10–40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 40 มิลลิกรัม

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเย็น และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 40 มิลลิกรัม

การใช้ยา Simvastatin

การใช้ยาซิมวาสแตตินควรใช้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาซิมวาสแตตินในเวลาก่อนนอนหรือรับประทานพร้อมมื้ออาหารเย็น และหากรับประทานยามากกว่าวันละ 1 ครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมอาหาร แต่ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาในปริมาณมาณมากกว่าหรือใช้ยาในระยะเวลานานกว่าที่แพทย์กำหนด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

ผู้ป่วยที่ใช้ยาซิมวาสแตตินในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานาน และอาจต้องหยุดใช้ยานี้ในระยะเวลาหนึ่งหากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือมีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยห้ามหยุดใช้ยาเองนอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ อีกทั้งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งในขณะที่กำลังใช้ยาด้วย

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลารับประทานยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาของครั้งถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า ส่วนการเก็บรักษายาควรเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส เก็บยาให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงเก็บให้ห่างจากความร้อนและความชื้นเพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพด้วย

การใช้ยาซิมวาสแตตินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเพิ่มไขมันในเลือด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก ตามคำแนะนำของแพทย์ควบคู่กันไปด้วย

ปฏิกิริยาระหว่างยา Simvastatin กับยาอื่น

ยาซิมวาสแตตินอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยารักษาโรคหัวใจชนิดอื่น เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) หรือยาเวอราปามิล (Verapamil) 
  • กลุ่มยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาเทลิโทรมัยซิน (Telithromycin) 
  • กลุ่มยาต้านเชื้อราบางชนิด เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole)
  • ยาต้านไวรัสสำหรับใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เช่น ยาเนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir)
  • กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น  ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)

ตัวอย่างยาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาซิมวาสแตตินเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Simvastatin

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาซิมวาสแตติน ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องผูก หรือมีอาการของไข้หวัด เช่น เจ็บคอ คัดจมูก และจาม นอกจากนี้ การใช้ยาซิมวาสแตตินอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ กดแล้วเจ็บ อ่อนเพลีย หรืออาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จะพบได้น้อย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาควรรีบไปพบแพทย์หากพบอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • สัญญาณของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน มีอาการคัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด และเกิดภาวะดีซ่าน 
  • สัญญาณของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะ มีอาการแสบขัดเมื่อปัสสาวะหรือปัสสาวะได้ลำบาก มีอาการบวมที่เท้าหรือข้อเท้า รู้สึกอ่อนเพลีย และหายใจตื้น

สัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ