Gentamicin (เจนตามัยซิน)

Gentamicin (เจนตามัยซิน)

Gentamicin (เจนตามัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มักใช้ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรง ทั้งการติดเชื้อที่ดวงตา หู ผิวหนัง หรือทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น การใช้ยาอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไตและการได้ยิน ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วย รวมถึงประวัติทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับ Gentamicin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาหยอดตา ขี้ผึ้ง ยาหยอดหู ยาฉีด และครีมทาภายนอก

คำเตือนในการใช้ยา Gentamicin

การใช้ยา Gentamicin ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่แพ้ยา Gentamicin หรือยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เช่น อะมิคาซิน (Amikacin) กานามัยซิน (Kanamycin) นีโอมัยซิน (Neomycin) พาโรโมมัยซิน (Paromomycin) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) โทบรามัยซิน (Tobramycin) เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือผู้ที่มีอาการแพ้ซัลไฟต์
  • ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง 
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน 
  • ผู้ที่มีระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ 
  • ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะยาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารก
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายาจะถูกขับออกผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารกได้หรือไม่

ปริมาณการใช้ยา Gentamicin

ยา Gentamicin มีขนาดและปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอายุหรืออาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังนี้

  • การติดเชื้อที่ตา
    • เด็กและผู้ใหญ่ ใช้ยาความเข้มข้น 0.3% หยอดตาข้างที่ติดเชื้อ 1-2 หยด ไม่เกินวันละ 6 ครั้ง หากมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจปรับเปลี่ยนขนาดยา โดยช่วงแรกหยอด 1-2 หยดทุก ๆ 15 นาที ถ้าควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ลดความถี่ของการหยอดยาลง หรือใช้ยาชนิดขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.3% ในปริมาณเล็กน้อยป้ายที่บริเวณเยื่อตาขาววันละ 2-3 ครั้ง
  • หูชั้นนอกอักเสบ
    • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ใช้ยาความเข้มข้น 0.3% หยอดหูข้างที่ติดเชื้อ 2-3 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
  • การติดเชื้ออย่างรุนแรง
    • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ ที่ขนาด 3-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7-10 วัน หรือฉีดทางหลอดเลือดดำช้า ๆ อย่างน้อย 2-3 นาที หรือหยดยาทางหลอดเลือดดำไม่เกิน 20-30 นาที
    • เด็ก ฉีดยาขนาด 3-7.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งเป็นวันละ 3 เวลา
  • ผิวหนังอักเสบ หรือการติดเชื้อทางผิวหนังอื่น ๆ
    • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ทำความสะอาดผิวหนังให้เรียบร้อยแล้วใช้ครีมหรือขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.1% ทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อวันละ 3-4 ครั้ง

การใช้ยา Gentamicin

  • ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา
  • ชนิดยาหยอดตาควรเขย่าก่อนใช้ทุกครั้งและเว้นระยะเวลาประมาณ 5 นาทีก่อนหยดยาหยดถัดไป หากเป็นชนิดขี้ผึ้งป้ายตาควรถือไว้ในมือสักพักเพื่อให้ขี้ผึ้งอ่อนตัวและง่ายต่อการใช้งาน จากนั้นป้ายยาที่บริเวณเปลือกตาล่าง หลับตาและกลอกตาไปมาประมาณ 1-2 นาที และเว้นระยะเวลาประมาณ 10 นาทีก่อนป้ายยาครั้งถัดไป รวมถึงไม่ควรสัมผัสที่ปากขวดยาหรือปลายหลอดยาเพราะยาอาจปกเปื้อนและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้
  • ควรล้างมือและผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง อาจใช้ผ้าพันแผลร่วมด้วยก็ได้ และหลังทายาเสร็จควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • ควรดื่มน้ำมาก ๆ ในขณะใช้ยา เพื่อให้ตับทำงานได้ตามปกติ
  • ควรเก็บยาฉีดไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ยาชนิดครีมหรือขี้ผึ้งควรเก็บที่อุณหภูมิ 2-30 องศาเซลเซียส ยาหยอดหูและยาหยอดตาควรเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถใช้ได้ทันที แต่ถ้าใกล้กับกำหนดเวลาใช้ยารอบในถัดไป ให้ใช้ยาในเวลาตามรอบและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนยาที่ขาดหายไป

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Gentamicin

ยา Gentamicin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขณะใช้ยาได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม มีผื่นคันตามผิวหนัง รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดยา ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน ปวดข้อ เป็นต้น

ควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง หายใจลำบาก มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
  • สูญเสียการได้ยิน หรือมีเสียงดังในหู
  • วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • หายใจแผ่ว หรือหายใจหอบ
  • รู้สึกชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามผิวหนัง
  • กล้ามเนื้อกระตุก หรือหดเกร็ง
  • มีอาการชัก
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นเลือด
  • มีไข้ มีแผลในปาก เหงือกแดงหรือบวม กลืนลำบาก
  • อาการที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะไม่ค่อยออก รู้สึกเจ็บในขณะปัสสาวะ เท้าหรือข้อบวม รู้สึกเหนื่อยขณะหายใจ หรือหายใจหอบ
  • อาการที่บ่งบอกว่าระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล เช่น รู้สึกสับสน อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปัสสาวะมากกว่าเดิม
  • อาการที่บ่งบอกว่าความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีเสียงดังในหู วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น รู้สึกปวดที่ด้านหลังของดวงตา