ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)

ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)

Fosfomycin (ฟอสโฟมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่แพทย์ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) มีภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection) หรือโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะชนิดอื่น โดยยาจะทำงานโดยการออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ทั้งนี้ แม้ยาฟอสโฟมัยซินจะเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรีย แต่ยานี้ไม่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสได้ เช่น โรคไข้หวัด (Common Cold) และโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu)

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยา Fosfomycin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ กำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานและยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ผู้ที่ต้องใช้ยา Fosfomycin จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

คำเตือนในการใช้ยา Fosfomycin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Fosfomycin ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ก่อนใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยานี้
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรง และผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงฟอกไตไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) หรือผู้ที่มีโรคที่ต้องควบคุมการบริโภคน้ำตาล หรือแอสปาร์แทม (Aspartame) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ ตับ ไต หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะระดับฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนสูง (Aldosterone) ภาวะโซเดียมในร่างกายสูง หรือมีของเหลวสะสมอยู่ในปอด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  • ในระหว่างที่ได้รับยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางคนจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • เด็กที่ใช้ยานี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนขณะใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ใช้ยานี้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อน
  • ผู้ที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการในลักษณะ ปวดบริเวณสีข้าง ปวดหลังบริเวณเอว มีไข้ และหนาวสั่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ยา Fosfomycin อาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดอาการเวียนศีรษะ ผู้ที่ใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Fosfomycin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Fosfomycin จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

การติดเชื้อบริเวณกระดูกและข้อต่อ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะแบบซับซ้อน (Complicated Urinary Tract Infection) การติดเชื้อปอดบวมจากสถานพยาบาล และกระดูกอักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อรักษาการติดเชื้อบริเวณกระดูกและข้อต่อ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะแบบซับซ้อน (Complicated Urinary Tract Infection) การติดเชื้อปอดบวมจากสถานพยาบาล และกระดูกอักเสบ ได้แก่

ผู้ใหญ่ ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาขั้นเบื้องต้น แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 12–24 กรัม/วัน โดยจะแบ่งปริมาณเป็น 2–3 ครั้ง แต่จะไม่เกิน 8 กรัม/ครั้ง ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ชนิดของเชื้อ และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

เด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมเป็นต้นไป แพทย์จะให้ยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

เด็กที่อายุ 1–12 ปี ที่น้ำหนักตัวระหว่าง 10–40 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3–4 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 1–12 สัปดาห์ ที่น้ำหนักตัวต่ำกว่า 10 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 40–44 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุต่ำกว่า 40 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 2 ครั้ง/วัน

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis)

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย ได้แก่

ผู้ใหญ่ ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาขั้นเบื้องต้น แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 16–24 กรัม/วัน โดยจะแบ่งปริมาณเป็น 3–4 ครั้ง แต่จะไม่เกิน 8 กรัม/ครั้ง ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ชนิดของเชื้อ และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

เด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมเป็นต้นไป แพทย์จะให้ยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

เด็กที่อายุ 1–12 ปี ที่น้ำหนักตัวระหว่าง 10–40 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3–4 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 1–12 สัปดาห์ ที่น้ำหนักตัวต่ำกว่า 10 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 40–44 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุต่ำกว่า 40 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 2 ครั้ง/วัน

ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบฉับพลันที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อรักษาภาวะภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบฉับพลันที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 3 กรัม เพียงครั้งเดียว

การป้องกันภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อป้องกันภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาในปริมาณ 3 กรัม ก่อนการผ่าตัดหรือการตรวจบริเวณทางเดินปัสสาวะ 3 ชั่วโมง และอาจให้รับประทานยาอีกครั้งในปริมาณ 3 กรัม หลังจากการผ่าตัดหรือการตรวจบริเวณทางเดินปัสสาวะ 24 ชั่วโมง

การใช้ยา Fosfomycin

ผู้ที่ใช้ยา Fosfomycin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่เพิ่มหรือลดปริมาณยาเอง และไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรรับประทานยาในตอนที่ท้องว่าง หรืออย่างน้อย 2–3 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร หรือหากเป็นไปได้ อาจเลือกรับประทานยาเป็นช่วงก่อนเข้านอน แต่ควรเป็นช่วงหลังจากที่ปัสสาวะแล้ว

หากลืมรับประทานยา ให้ผู้ป่วยรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ

ควรเก็บยา Fosfomycin ให้พ้นมือเด็ก เก็บรักษาไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงความร้อน แสง และความชื้น และไม่ควรใช้ยาหากยาหมดอายุ

ปฏิกิริยาระหว่างยา Fosfomycin กับยาอื่น

ก่อนใช้ยา Fosfomycin ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) ยาเบททานีคอล (Bethanechol) ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) และยาต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการท้องผูก

ทั้งนี้ ยังมียาชนิดอื่น ๆ เช่นกันที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของยา Fosfomycin ดังนั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ และยารักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ อยู่ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Fosfomycin 

การใช้ยา Fosfomycin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดผลข้างเคียงได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และคันช่องคลอด ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากพบอาการดังกล่าวและอาการไม่ดีขึ้นหรือหายไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากใช้ยาแล้วเกิดอาการรุนแรง เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น เวียนศีรษะรุนแรง หายใจไม่ออก หรือบริเวณใบหน้า ลิ้น และคำคอเกิดอาการบวมหรือคัน
  • ท้องเสียรุนแรงอย่างเรื้อรัง หรืออุจจาระปนเลือด ที่เกิดร่วมกับอาการปวดท้องและมีไข้ 
  • ปวดท้องรุนแรง
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • ผิวหนังและดวงตาเป็นสีเหลือง
  • ขาและข้อเท้าบวม
  • อ่อนเพลียรุนแรง
  • อาการต่าง ๆ ที่เกียวกับการมองเห็น