Chloroquine (คลอโรควิน)

Chloroquine (คลอโรควิน)

Chloroquine (คลอโรควิน) เป็นยารักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย โดยจะออกฤทธิ์รักษาและป้องกันการติดเชื้อในเซลล์เม็ดเลือดแดงหลังจากถูกยุงกัด รักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้ออะมีบา และอาจนำมาใช้กับภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยานี้จะช่วยรักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากปรสิตบางชนิดเท่านั้น และอาจใช้ไม่ได้ผลหากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เชื้อมาลาเรียดื้อต่อยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยาที่มีลักษณะคล้ายกัน

แม้ยา Chloroquine จะได้รับอนุญาตให้ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 (COVID-19) ในบางกรณี แต่ในปัจจุบันพบว่าตัวยาใช้ไม่ได้ผลในการรักษาและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง จึงยุติการใช้ยา Chloroquine ในการรักษาโรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยา Chloroquine

กลุ่มยา ยาต้านมาลาเรีย
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย รักษาการติดเชื้ออะมีบา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเองชนิด SLE และ DLE
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์มากพอที่จะบอกได้ว่ายานี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ จึงควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ สำหรับผู้ที่ต้องให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้เพราะตัวยาสามารถส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารก

คำเตือนในการใช้ยา Chloroquine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ยาและสารอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Chloroquine และก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ ได้แก่ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปหรือจอประสาทตาถูกทำลายเนื่องมาจากการใช้ยาต้านมาลาเรีย โรคหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต ปัญหาทางสายตาและการได้ยิน โรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังอื่น โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเลือด ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ชัก เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ หรือเวียนศีรษะฉับพลันคล้ายจะหมดสติ เนื่องจากยา Chloroquine อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ร่วมด้วย
  • การใช้ยา Chloroquine ในปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้จอประสาทตาถูกทำลายจนรักษาไม่ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในการมองเห็นอย่างถาวร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสายตามาก่อน เป็นโรคไต หรือรับประทานยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำในระหว่างที่ใช้ยา Chloroquine เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งแพทย์อาจต้องปรับปริมาณการใช้ยา วางแผนการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารใหม่ให้เหมาะสม
  • ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมองเห็นเป็นภาพเบลอ ภาพบิดเบี้ยว มีปัญหาในการโฟกัส เกิดจุดบอด มีปัญหาในการอ่าน ตาพร่าเลือน และตาไวต่อแสง
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดหรือการใช้เครื่องอบผิวแทน เพราะยา Chloroquine อาจส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสง ผู้ป่วยจึงควรทาครีมกันแดดและสวมเสื้อคลุมผิวหนังเป็นประจำเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่เป็นอันตรายจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เพราะยา Chloroquine อาจทำให้มองเห็นเป็นภาพเบลอและร่างกายมีการตอบสนองลดลง   
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดหรือยาแก้ท้องเสีย อย่างยาคาโอลิน-เพคติน (Kaolin-Pectin) ภายใน 4 ชั่วโมงก่อนหรือหลังการใช้ยา Chloroquine
  • ผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าวัยอื่น

ปริมาณการใช้ยา Chloroquine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

ป้องกันโรคมาลาเรีย

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย 

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยให้รับประทานในวันเดิมของแต่ละสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และควรรับประทานก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย 1 สัปดาห์ และหลังออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยให้รับประทานในวันเดิมของแต่ละสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และควรรับประทานก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย 1 สัปดาห์ และหลังออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ 

รักษาโรคมาลาเรียฉับพลัน

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาโรคมาลาเรียฉับพลัน

เด็ก วันแรกให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยมีปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม หลังจากยามื้อแรก 6 ชั่วโมง ให้รับประทานยาอีกครั้งในปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ส่วนวันที่ 2 และ 3 ให้รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง/วัน

ผู้ใหญ่ วันแรกให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม และหลังจากยามื้อแรก 6–8 ชั่วโมง ให้รับประทานยาอีกครั้งในปริมาณ 300 มิลลิกรัม ส่วนวันที่ 2 และ 3 ให้รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน

รักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากอะมีบาในตับ

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาติดเชื้อที่เกิดจากอะมีบาในตับ 

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกัน 2 วัน จากนั้นให้รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับยาอีเมติน (Emetine) หรือยาดีไฮโดรเมทีน (Dehydroemetine) เป็นระยะเวลานาน 2–3 สัปดาห์

รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

เด็ก รับประทานยาได้สูงสุด 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน ควรหยุดใช้ยา

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน ควรหยุดใช้ยา

รักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิด SLE และ DLE  

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิด SLE และ DLE  

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน หากตอบสนองต่อยาได้ดีค่อยให้ลดปริมาณการใช้ยาลงมาทีละนิด โดยปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

การใช้ยา Chloroquine

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
  • ใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากยาและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรรับประทานยาในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม   
  • ควรรับประทานยา Chloroquine พร้อมมื้ออาหาร เพื่อป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยเด็กมีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปริมาณการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยได้รับเชื้อมาลาเรีย มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติในระหว่างอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรียหรือหลังจากกลับมาจากพื้นที่ดังกล่าว
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีไข้ อาเจียน หรือท้องเสียในระหว่างการใช้ยา เนื่องจากยา Choroquine ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันโรคมาลาเรียได้ทุกชนิด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือเกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป ชัก ชีพจรเต้นเบาลง หัวใจเต้นช้าลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เวียนศีรษะฉับพลัน หมดสติ หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจช้าลง เป็นต้น
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Chloroquine

ยา Chloroquine อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดเกร็งหน้าท้อง ปวดศีรษะ มีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ ผมร่วง และสีผมหรือสีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม แต่หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วมีอาการแย่ลง เกิดอาการรุนแรง หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว  

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น หรือมีอาการแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น มีไข้ เจ็บคอ เจ็บผิวหนัง แสบตา ผื่นแดงบนผิวหนัง เป็นต้น  
  • มีปัญหาโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ ใจสั่น ข้อเท้าหรือเท้าบวม เหนื่อยล้าผิดปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติฉับพลัน เป็นต้น
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือจิตใจ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า มีความคิดจะฆ่าตัวตาย หรือเห็นภาพหลอน เป็นต้น
  • มีปัญหาในการได้ยิน เช่น หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการเจ็บคอแล้วไม่หายไปหรือมีไข้ เป็นต้น
  • มีสัญญาณของโรคตับ เช่น ปวดท้อง ดีซ่าน ปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นต้น
  • มีปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแอ ใบหน้าและลิ้นกระตุก เป็นต้น
  • มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เหนื่อยล้า แผลในปากหรือที่ผิวหนัง เป็นต้น 
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ อยากอาหาร เหงื่อออก ฉุนเฉียว เวียนศีรษะ ชาบริเวณปลายมือและเท้า หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล สั่น เป็นต้น
  • มีรอยฟกช้ำหรือเลือดออกง่าย
  • หมดสติ หัวใจเต้นเร็ว ชัก     
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงดังกล่าวหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว