Valproate (วาลโปรเอท)

Valproate (วาลโปรเอท)

Valproate (วาลโปรเอท) หรือ Valproic Acid เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคลมชัก รักษาความผิดปกติทางอารมณ์อย่างภาวะแมเนีย (Mania) ในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน โดยกลไกของยาจะช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ ยานี้อาจอยู่ในรูปของ Sodium และ Semisodium ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ใช้รักษาโรคที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยา Valproate

กลุ่มยา ยากันชัก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคลมชัก โรคไบโพลาร์ และป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดระดับความเป็นอันตรายของยา Valproate ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร แต่จากการศึกษาทั้งในคนและสัตว์พบว่ายานี้อาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์ โดยจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา อย่างพิการแต่กำเนิด ภาวะปัญญาอ่อน และพัฒนาการทางสมองที่ช้ากว่าปกติ การศึกษาในสัตว์ยังพบว่ายาวาลโปรเอทอาจทำให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากยาเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้

คำเตือนในการใช้ยา Valproate

ยาวาลโปรเอทมีข้อควรทราบก่อนการใช้ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการรักษา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการรักษาและโรคประจำตัวก่อนใช้ยา โดยเฉพาะหากมีภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร ปัญหาเลือดออกผิดปกติ สมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคไต โรคตับ โรคตับอ่อนอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อซีเอ็มวี (CMV) มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของวัฏจักรยูเรีย (Urea Cycle Disorder) หรือทารกเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมไปถึงโรคพันธุกรรมเมตาบอกลิกบางโรค อย่างกลุ่มอาการ Alpers-Huttenlocher หรือโรคความผิดปกติของยีนในไมโทคอนเดรีย (Mitochondrial Disorder) 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากมีอาการติดสุรา ติดบุหรี่ หรือยาเสพติด
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม หน้ามืด หรือตาพร่า จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อย่างงานที่ต้องใช้เครื่องจักรหรืองานบนที่สูง นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดทุกชนิด เพราะอาจทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • ยานี้อาจส่งผลให้เลือดออกและเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น จึงควรระมัดระวังในการใช้ของมีคม รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่อาจทำให้ร่างกายได้รับการกระแทก
  • ยานี้อาจทำให้เกิดความรู้สึก ความคิด และการพยายามที่จะฆ่าตัวตาย คนใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยอยู่เสมอ
  • ยา Valproate อาจทำให้ตับทำงานล้มเหลวและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ยานี้อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงและให้ผิวไหม้แดด ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ทาครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ (SPF) สูง และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
  • แพทย์อาจแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยอุปกรณ์หรือวิธีต่าง ๆ ระหว่างการใช้ยานี้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจเลือด
  • ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักชนิดรุนแรงและอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากต้องการหยุดใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์
  • หากได้รับยาเกินขนาดและมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์

ปริมาณการใช้ Valproate

ยา Valproate มีปริมาณ ระยะเวลา และรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ดังนี้

ยา Valproate รูปแบบฉีด

โรคลมชักแบบรู้ตัว (Simple Seizures) โรคลมชักแบบไม่รู้ตัวจากผลกระทบบางส่วนในสมอง (Complex Partial Seizures) และลมชักชนิดเหม่อ (Absence Seizures) 

แพทย์จะให้ยา Valproate รูปแบบฉีดด้วยการฉีดยาทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลา 3-5 นาที หรืออาจใช้วิธีการหยดยาร่วมกับน้ำเกลือและสารน้ำอื่น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 นาที โดยขนาดการใช้ยามีดังนี้

เด็ก

รูปแบบการให้ยาจะแบ่งตามน้ำหนักตัว ดังนี้

  • ระยะแรกใช้ยา Sodium Valproate 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2-4 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ปริมาณทั่วไปในการใช้ยาอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้เป็น 2-4 ครั้ง

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ 

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ระยะแรกใช้ยา Sodium Valproate 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2-4 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยา 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน
  • ปริมาณทั่วไปในการใช้ยาอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ

มีขนาดการใช้ยา Valproate ดังนี้

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

ยา Valproate รูปแบบรับประทาน

โรคลมชักแบบรู้ตัวและโรคลมชักชนิดเหม่อ 

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate รักษาโรคลมชักแบบรู้ตัวและโรคลมชักชนิดเหม่อมีดังนี้

เด็ก

รูปแบบการใช้ยาในเด็กจะแบ่งตามน้ำหนักตัวมีดังนี้

  • น้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยทั่วไปปริมาณการใช้อยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • น้ำหนักต่ำกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน แบ่งการใช้เป็น 2 ครั้งต่อวัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ 

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ระยะแรก ให้รับประทานยา Valproate Semisodium 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2-4 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยา 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยา Valproate ในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

โรคลมชักแบบไม่รู้ตัวจากผลกระทบบางส่วนในสมอง

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate สำหรับรักษาโรคลมชักแบบไม่รู้ตัวจากผลกระทบบางส่วนในสมองมีดังนี้

เด็ก

รูปแบบการใช้ยาในเด็กจะแบ่งตามน้ำหนักตัว ดังนี้

  • น้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ปริมาณการใช้ทั่วไปอยู่ที่ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • น้ำหนักต่ำกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานยา Sodium Valproate 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งการใช้เป็น 2 ครั้ง/วัน แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ยา Valproate Semisodium รับประทาน 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งการใช้ยาเป็น 2-4 ครั้ง เพิ่มปริมาณยา 5-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ยา Sodium Valproate รับประทาน 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เพิ่มปริมาณยา 150-300 มิลลิกรัมทุก 3 วัน ปริมาณการใช้ยาทั่วไปอยู่ที่ 1,000-2,000 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม/วัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

โรคไบโพลาร์

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate ในการรักษาโรคไบโพลาร์มีดังนี้

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีรูปแบบการใช้ยา ดังนี้

  • โดยทั่วไปปริมาณการใช้ยาอยู่ที่ 1,200 มิลลิกรัม/วัน
  • รับประทานยา Valproate ปริมาณ 600-1,800 มิลลิกรัม โดยแบ่งการใช้เป็น 2 รอบ/วัน ระยะแรกแพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาทุก ๆ 2-3 วัน จนถึงระดับที่เหมาะสมภายใน 2 สัปดาห์ 
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยารักษาโรคจิตเภทชนิดอื่นร่วมด้วย

ภาวะแมเนียแบบเฉียบพลันจากโรคไบโพลาร์ (Acute Manic Episodes Of Bipolar Disorder)

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate ในการรักษาภาวะแมเนียแบบเฉียบพลันจากโรคไบโพลาร์มีดังนี้

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีขนาดการใช้ยา ดังนี้

  • ระยะแรก รับประทานยา Valproate Semisodium 750 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หากเป็นแบบออกฤทธิ์นาน ใช้ในปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เมื่อร่างกายตอบสนองต่อการรักษาหรือค่าความเข้มข้นของพลาสมาในเลือดอยู่ระหว่าง 50-125 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์ 

ไมเกรน

ตัวอย่างการใช้ยา Valproate เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของอาการปวดหัวไมเกรนมีดังนี้

ผู้ที่อายุ 10 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

มีรูปแบบการใช้ยา ดังนี้

  • โดยทั่วไปปริมาณการใช้อยู่ที่ 500-1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • ระยะแรก รับประทานยา Valproate Semisodium ครั้งละ 250 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หากเป็นแบบออกฤทธิ์นาน รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม/วัน ใช้ต่อเนื่องกันจนครบสัปดาห์
  • เมื่อครบ 1 สัปดาห์ แพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 1,000 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน แพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณต่ำและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลยพินิจของแพทย์

การใช้ยา Valproate

วิธีใช้ยาอย่างปลอดภัยมีดังนี้

  • ปฏิบัติตามรายละเอียดบนใบกำกับยาและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
  • รับประทานยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด ห้ามลดหรือเพิ่มปริมาณยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร
  • ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพราะของเหลวภายในร่างกายมีส่วนช่วยในการทำงานของยา
  • ยา Valproate ในรูปแบบน้ำ ควรใช้ช้อนหรือแก้วตวงที่ใช้สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ
  • ไม่ควรรับประทานยา Valproate Sodium ในรูปแบบน้ำ ร่วมกับน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้ปากและคอระคายเคือง
  • ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันเป็นประจำทุกวัน เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ยานี้ใช้เพื่อการป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีบรรเทาเมื่อมีอาการ
  • ยา Valproate แบบออกฤทธิ์นาน ไม่ควรบด หัก เคี้ยว หรือนำออกจากแคปซูล
  • หากลืมใช้ยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้ถึงเวลาใช้ยามื้อถัดไปสามารถข้ามไปรับประทานยาในมื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • เก็บยานี้ไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น

ยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Valproate ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือลดทอนประสิทธิภาพในการรักษาและการป้องกันโรค ดังนั้น หากมีการใช้ยาชนิดอื่นก่อนหน้านี้หรือต้องการใช้ยาชนิดอื่นระหว่างการใช้ยานี้ ควรแจ้งแพทย์ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาต้านเศร้า อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเป็นพิษ
  • ยาป้องกันไข้มาลาเรีย อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการชัก
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดคาร์นิทีน (Carnitine Deficiency) 
  • ฮอร์โมนทดแทนหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาในการป้องกันอาการชักได้
  • ยาแอสไพริน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเป็นพิษสูง และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี
  • ยากลุ่ม Carbapenem อาจลดประสิทธิภาพของยา Valproate และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

นอกจากนี้ ยังมียาหรือการรักษาอื่นที่ส่งผลต่อการทำงานของยา Valproate จึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาและการรักษาของตนเองโดยละเอียด

ผลข้างเคียงของยา Valproate

การใช้ยาวาลโปรเอทอาจมีผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ท้องเสีย ได้ยินเสียงวิ้งในหู อยากอาหารมากกว่าปกติ ภาวะตัวเย็นเกิน เห็นภาพหลอน ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคคลั่งผอม (Anorexia) เป็นต้น

ยาชนิดนี้ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น เลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ หนาวสั่น หายใจถี่ ดวงตาเคลื่อนไหวเอง (Nystagmus) มือและเท้าบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ มีความรู้สึกหรือพยายามฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ภาวะตับเป็นพิษ และโรคสมองเสื่อมอย่างรุนแรง หมดสติ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคเลือด โรคตับอ่อนอักเสบ โรคตับ โรคความผิดปกติของยีนในไมโทคอนเดรีย มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะตับเป็นพิษได้สูงกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงการใช้ยาวาลโปรเอทในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดคาร์นิทีน (Carnitine Deficiancy) 

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา อย่างลมพิษ ผื่นแดง คัน ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก และคอ ซึ่งอาจทำให้หายใจไม่ออกและเป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากเกิดอาการเหล่านี้หลังจากใช้ยาควรไปพบแพทย์ทันที