Phenytoin (เฟนิโทอิน)

Phenytoin (เฟนิโทอิน)

Phenytoin (เฟนิโทอิน) คือ ยาต้านชักที่นำมาใช้ป้องกันและควบคุมอาการชัก ซึ่งมีกลไกออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งหรือชะลอการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท โดยยาจะมีผลต่อพวกตัวรับส่งกระแสประสาทในสมองที่เป็นสาเหตของอาการชัก (Seizures) แต่ยานี้ไม่สามารถนำมาใช้รักษาอาการชักได้ทุกประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงยาที่เหมาะสมกับโรคและอาการนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ยา Phenytoin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

trang cá cược xổ số Liên kết đăng nhập

เกี่ยวกับยา Phenytoin

ลุ่มยา ยาต้านชัก (Anticonvulsant)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันและควบคุมอาการชัก
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อ

คำเตือนการใช้ยา Phenytoin

  • ก่อนใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยานี้ หรือยาต้านชักชนิดอื่น ๆ รวมไปถึงประวัติอาการแพ้อื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือปัญหาอื่น ๆ ได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติส่วนตัวหรือโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) โรคเบาหวาน  โรคตับ ลูปัส การขาดโฟเลตหรือวิตามิน บี 12
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน การรับประทานยานี้อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับกลูโคสในเลือดหรือปัสสาวะเป็นประจำ นอกจากนั้น ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากเกิดความผิดปกติใด ๆ เพราะอาจต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ยา การออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหาร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ หรือง่วงซึม ผู้ที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการใช้เครื่องจักรและทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมไปถึงควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือขั้นตอนทางการแพทย์ที่อาจทำให้ไม่สามารถรับประทานยาได้ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานวิตามิน ดี เสริม เพื่อป้องกันโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia)
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์จะใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ แต่อาการชักก็เป็นภาวะที่อันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ดังนั้น ไม่ควรหยุดใช้ยาหากแพทย์ไม่แนะนำ
  • ผู้ที่วางแผนมีบุตรหรือคิดว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีถึงประโยชน์หรือความเสี่ยงในการใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนั้น ควรปรึกษาถึงวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม หากการคุมกำเนิดวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผลขณะกำลังใช้ยานี้
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจเข้าซึมสู่น้ำนมมารดาได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมยาอื่นหรือในระยะไล่เลี่ยกัน
  • ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มฤทธิ์ยาให้ทำงานมากเกินไปได้
  • ยาที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้
    • ยาที่เพิ่มการออกฤทธิ์ของ Phenytoin เช่น ยาไดคูมารอล (Dicumarol) ยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) และยาทิโคลพิดีน (Ticlopidine)
    • ยาที่ลดการออกฤทธิ์ของ Phenytoin เช่น ยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ยาไดอะซอกไซด์ (Diazoxide) ยารีเซอร์พีน (Reserpine) ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) ยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) และยาไวกาบาทริน (Vigabatrin)

ปริมาณการใช้ยา Phenytoin

อาการชักเกร็งทั้งตัว (Tonic-Clonic Status Epilepticus)

ผู้ใหญ่  ให้ทางหลอดเลือดดำและเสริมด้วยยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ หรือให้ยาเป็นระยะ ๆ ไหลเข้าทางหลอดเลือดดำ ปล่อยยาด้วยอัตราเร็วไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อนาที โดยมีขนาดยาต่อเนื่อง 100 มิลลิกรัม ให้ทุก 6-8 ชั่วโมง

เด็ก

  • เด็กแรกเกิดให้ทางหลอดเลือด ขนาดเริ่มต้น 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) จากนั้นให้ขนาด 2.5-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 1 เดือน-12 ปี ขนาดเริ่มต้น 18 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) จากนั้นให้ขนาด 2.5-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี ขนาดเริ่มต้น 18 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) จากนั้นค่อย ๆ ปรับเพิ่มขนาดอยู่ในปริมาณ 100 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง

โรคลมชัก (Epilepsy)

ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 3-4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) รับประทานครั้งเดียวทั้งหมดหรือแบ่งรับประทาน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง รับประทาน 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน ค่อย ๆ เพิ่มขนาดเป็น 600 มิลลิกรัมต่อวันหากจำเป็น และขนาดยาต่อเนื่อง 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน

เด็ก ขนาดเริ่มต้น 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แบ่งรับประทาน 2-3 มื้อ รับประทาน ขนาดยาต่อเนื่อง 4-8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) โดยแบ่งรับประทาน ขนาดสูงสุด 300 มิลลิกรัมต่อวัน

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยา Phenytoin

  • ควรใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสชักร
  • กรณีหากเป็นยาชนิดแคปซูล ควรกลืนยาทั้งเม็ดและไม่ควรบด เคี้ยว ทำให้แตก หรือเปิดแคปซูลออก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงรับประทานยา หากพบว่ายาเปลี่ยนสีไปจากปกติ
  • กรณียาเป็นแบบชนิดสำหรับเคี้ยว ควรเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
  • ควรเขย่าขวดยาชนิดน้ำก่อนนำไปวัดปริมาณและรับประทาน รวมไปถึงควรวัดปริมาณยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับยาโดยเฉพาะ
  • ในขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดบ่อยครั้ง และอาจต้องตรวจเลือดเมื่อมีการเปลี่ยนชนิดยา รวมไปถึงต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา
  • การใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการชัก ไม่ควรหยุดใช้ยาเองทันทีแม้ว่าจะมีอาการที่ดีขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักมากขึ้น ดังนั้น ควรรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • หากพบว่ายาไม่ให้ผลตามเท่าที่ควร ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ควรพกบัตรหรือสิ่งที่แสดงว่ากำลังใช้ยานี้ไว้กับตัว เพราะจะช่วยให้ผู้ให้การรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ ทราบว่ากำลังใช้ยาต้านชักอยู่
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเหงือกบวม ควรแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน และพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อป้องกันอาการดังกล่าว
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความชื้นและความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Phenytoin

หากพบว่ามีสัญญาณของอาการแพ้ยา ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นหรือคอบวม ควรไปพบแพทย์ทันที รวมไปถึงหากมีอาการต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก
  • เวียนศีรษะ
  • ง่วงซึม
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • รู้สึกวิตกกังวล
  • การเคลื่อนไหวดวงตาผิดปกติ
  • ร่างกายเสียการประสานงาน
  • พูดไม่ชัด
  • สับสน
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • มองเห็นไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน
  • เหน็บชาตามมือและเท้า
  • ใบหน้าเกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น  ปากบวม เกิดผื่นบริเวณจมูกและแก้ม
  • ผมขึ้นมากกว่าปกติ
  • กระหายน้ำหรือปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • เหนื่อยผิดปกติ
  • เจ็บที่กระดูกและข้อต่อ
  • กระดูกหักง่าย

ผลข้างเคียงที่อาจพบบ่อย ได้แก่

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • ง่วงซึม สับสน วิตกกังวล
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก
  • สั่น พูดไม่ชัด เสียการทรงตัว
  • มีผื่นขึ้น
  • ตาเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ

นอกจากนั้น อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที